วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)


ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์

สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์นี้มีต้นกำเนิดในรัฐนิวฟาวด์แลนด์ประเทศแคนาดา โดยใช้ช่วยงานชาวประมงในการลากอวนเข้าฝั่ง ปีที่กำเนิดประมาณ ค.ศ. 1800 และต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุนัขต้นสายพันธุ์ลาบราดอร์ได้ถูกนำจากนิวฟาวด์แลนด์มาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสุนัขที่มีสีดำ ขนสั้นทั้งสิ้น แต่ด้วยความที่มีการเก็บค่าภาษีสุนัขที่แพงมาก ประกอบกับกฏระเบียบที่เข้มงวดของอังกฤษทำให้การนำเข้าสุนัขพันธุ์นี้ไปยังอังกฤษต้องหยุดชะงักลง



เมื่อความต้องการลดน้อยลงคนจึงเลิกเพาะ จนมีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่โดยผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขในกลุ่มรีทรีฟเวอร์ในปี ค.ศ. 1903 จะเห็นได้ว่าเดิมสุนัขพันธุ์นี้มีแต่สีดำ แต่หลังจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ในภายหลังทำให้เกิดสีเหลืองตามมา ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ หรือแม้จะเป็นสีช็อคก็ได้รับความนิยมปัจจุบันสุนัขพันธุ์นี้นอกจากจะใช้งานในการล่าสัตว์แล้ว ยังใช้ในการตรวจค้นหายาเสพติด ระเบิด และช่วยนำทางให้กับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : เป็นสุนัขที่มีโครงสร้างแข็งแรง ฝึกง่าย มีความกระตือรือร้น ขนาดใหญ่ ตัวผู้สูง 22.5-24.5 นิ้ว หนัก 60-75 ปอนด์ ตัวเมียสูง 21.5-23.5 นิ้ว น้ำหนัก 55-70 ปอนด์ (ส่วนสูงถึงหัวไหล่ และน้ำหนักโดยประมาณ 25-34 กิโลกรัม)

ศีรษะ : กะโหลกใหญ่กว้าง สันจมูกมี STOP ขอบบนของเบ้าตาเป็นสันนูนขึ้นเล็กน้อย
ตา : ตามีแววที่เป็นมิตร มีขนาดปานกลางไม่โปนหรือบุ๋มลึกเข้าไป มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ

จมูก : จมูกใหญ่และกว้าง มีสีดำสนิทหรือสีน้ำตาล (ขึ้อยู่กับสีขน)

ฟัน : ฟันต้องสบกันพอดี โดยฟันล่างสัมผัสด้านในของฟันบน

หู : หูจะปรกด้านข้างของหัว มีขนาดพอดี ถ้าดึงปลายหูมาด้านหน้าจะยาวระดับตา

ลำตัว : คอยาวเล็กน้อย มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเป็นลักษณะของสุนัขที่ใช้ในเกมกีฬา เส้นหลังตรง ลำตัวสั้น ช่วงอกกว้างหนา กระดูกซี่โครงค่อนข้างกลม

หาง : ส่วนโคนหางมีขนาดใหญ่ กลม หนา เรียวไปยังส่วนปลาย ไม่มีพู่หาง หางคล้ายหางของนาก

ขน : ขนสั้น เหยียดตรงและหนา มีขนสองชั้น ขนเรียบ มีสามสี สีดำสนิท สีน้ำตาลเข้ม หรือสีเหลืองหรือครีมจาง

ขา : ขาหน้าเหยียดตรงแข็งแรง อุ้งเท้าหนา นิ้วเท้าโค้งมาก ขาหลังแข็งแรงได้สัดส่วน



ลักษณะนิสัย : เป็นสุนัขที่ฉลาด ใจดี เป็นมิตร สุภาพ ไม่ก้าวร้าวต่อคนและสุนัขด้วยกัน อยู่รวมเป็นฝูงได้ ชอบว่ายน้ำ ตอบสนองรวดเร็ว สามารถฝึกความสามารถพิเศษอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ใช้เป็นสุนัขค้นหาผู้ประสบภัย ค้นหายาเสพติด ฯลฯ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ง่าย

สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ : เป็นสุนัขที่อ้วนได้ง่าย ควรพาไปออกกำลังกายสม่ำเสมอ ละได้รับอาหารที่ถูกสุขลักษณะ


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก..

http://women.sanook.com/pets/breed/dogs_44627.php




โกลเดนรีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever)

โกลเดนรีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) เป็นสายพันธุ์สุนัข มีถิ่นกำเนิดในประเทศสกอตแลนด์ มีขนยาว มีสีขนเหลืองอ่อน เหลืองทอง และเหลืองเข้ม โดยทั่วไปแล้ว สุนัขพันธุ์นี้ เพศผู้ควรมีความสูง (วัดจากหัวไหล่ถึงปลายเท้า) ประมาณ 23- 24 นิ้ว และเพศเมียควรมีความสูงประมาณ 21.5-22.5 นิ้ว แต่เดิมนั้นสุนัขสายพันธุ์นี้ได้ปรับปรุงคุณลักษณะบางอย่างเพื่อในงานของนายพราน เช่น มีรูปร่างสมส่วน คล่องตัว เขียวและฟันงับชิ้นเหยื่อ โดยให้ช้ำเพียงเล็กน้อย เป็นต้น ไม่มีปรากฏว่าสุนัขสายพันธุ์นี้มีความก้าวร้าวแต่อย่างใด

สุนัขพันธุ์นี้ ดูจากสีขนที่เหลืองเป็นสีทองไปทั้งตัว ประกอบกับใบหน้ากว้างและดูปราดเปรียวแล้ว ลักษณะทุกอย่างของสุนัขพันธุ์นี้ส่อให้เห็นถึงท่าทีอันสุภาพเป็นมิตร สุนัขพันธุ์นี้ จึงเป็นที่นิยมไปทั่วทุกมุมโลก รูปร่างอันงดงามของ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ นั้นใช่ว่าจะสวยแต่รูปก็หาไม่ ความสามารถของมันนั้นไม่เบา ไม่แพ้พันธุ์เก็บนกชนิดอื่นๆ หรือพวกพันธุ์สแปเนี่ยลตัวเป้งๆ ในระหว่างฤดูหนาวของแคนาดาซึ่งหนาวใช่ย่อย มันก็ยังลุยเก็บนกเป็ดน้ำได้อย่างสบายโกลเดนรีทรีฟเวอร์ เป็นพันธุ์สุนัข ที่มีขนาดใหญ่ที่มีความคล่องตัวสูง เป็นสุนัขที่มีความเฉลียวฉลาดมากมากจนสามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานได้ เนื่องจากเป็นพันธุ์สุนัขที่มีขนาดไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป จัดว่าเป็นสุนัขที่มีประสาทสัมผัสดีเลิศทั้งในด้านของการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย นอกจากนี้ยังมีสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำ ด้วยเหตุนี้วงการทหารและตำรวจในหลายๆ ประเทศจึงได้นำสุนัขพันธุ์นี้มาฝึกเพื่อไว้ช่วยงานราชการ อาทิเช่น ตรวจค้นยาเสพติด, ดมกลิ่นสะกดรอยคนร้าย, ยามรักษาความปลอดภัย แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมสูงสุด ก็เห็นจะได้แก่ฝึกให้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอด ทั้งนี้เพราะโกลเดน รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขซึ่งฉลาด แต่ไม่ค่อยเจ้าเล่ห์หรือซุกซนเหมือนสุนัขบางพันธุ์


เจ้าสีทองพันธุ์นี้ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองอังกฤษในทศวรรษที่ 1860 เป็นสุนัขที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขในกลุ่มสแปเนี่ยล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความเชี่ยวชาญทางน้ำเป็นพิเศษ โดยมีขนาดเล็กกว่าสุนัขพันธุ์ นิวฟาวน์แลนด์ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน สันนิษฐานว่าอาจผสมข้ามพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ไอริชเซทเทอร์ และสุนัขในกลุ่มวอเตอร์สแปเนี่ยล โดยอาจมีสายเลือดของสุนัขพันธุ์บลัดฮาวน์เข้าไปเจือปนอยู่ด้วยต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ ( YELLOW RETRIEVER ) ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1908 ก็ได้จัดให้มีการประกวด สุนัขพันธุ์ นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่คริสตัลพาเลซ และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้งชมรม สุนัขพันธุ์ นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับในสหรัฐอเมริกา


โกลเดนรีทรีฟเวอร์เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในราวปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยงโกลเดน รีทรีฟเวอร์ไว้เพื่อเป็นนักล่า แม้ทางสมาคม AKC ของสหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองสุนัขพันธุ์ นี้เข้าไว้ในทำเนียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับจากผู้เลี้ยงที่คิดอยากจะส่งสุนัขเข้าประกวดซักเท่าไหร่ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ นี้ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของการใช้งานมากกว่าการประกวด และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ทางสมาคม AKC ก็ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็นสุนัขพันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น สำหรับในด้านของสายพันธุ์ ในยุคสมัยแรกๆ โกลเดน รีทรีฟเวอร์จะมีสีเฉพาะสีทองหรือสีน้ำตาลออกไปทางเหลือง ( ซึ่งก็มีด้วยกันหลายเฉด ) แต่พอมาในช่วงหลังๆ ก็ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ซึ่งสีนี้ก็เป็นสีที่นิยมมากพอสมควรทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นสีที่แปลกใหม่


มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : โครงสร้างได้สัดส่วน และดูแข็งแกร่งทรงพลัง เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะเป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกๆ คน ดังนั้นจึงสามารถพาไปไหนมาไหนโดยไม่สร้างปัญหา มีความเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย เป็นสุนัขที่มีความปราดเปรียวและอดทน ลีลาในการย่างก้าวหรือไหวเป็นไปด้วยความนิ่มนวล

อุปนิสัย : มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ

ศีรษะ : กะโหลกใหญ่และกว้างโค้งได้รูปสวยงาม ไม่หยักเป็นร่องลึกหรือโหนกนูนจนมีลักษณะเป็นรูปโดม ช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหัก หรือเชื่อมต่อเป็นเส้นตรงเดียวกัน ใบหน้าลึกและกว้างขนาดพอๆ กับศีรษะ, สันจมูก, ปาก เป็นเส้นตรงเวลามองจากด้านข้างปลายจมูก ปากค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นรับกับขนาดของกะโหลกศีรษะ ลักษณะรูปทรงคล้ายลิ่มแลดูแข็งแกร่ง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ แต่ลักษณะของใบหน้าที่สวยงาม หนังบริเวณใบหน้าควรจะเรียบตึง


ฟัน : ต้องขบกันได้แนบสนิทเหมือนกรรไกร โดยฟันด้านหน้าแถวบนขบเกยอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะของฟันสำหรับสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีหน้าที่ในการเก็บหรือคาบเหยื่อ ดังนั้นอำนาจในการขบกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสุนัขมีฟันหน้าชุดบนและชุดล่างขบเสมอกันพอดีเหมือนประตูลิฟท์ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ยังพออนุโลมผ่อนผันให้ได้ เว้นแต่ฟันหน้าชุดล่างขบเกยอยู่ด้านนอก หรือฟันหน้าชุดบนและล่างขบเกยไม่สนิทกันถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง ถ้าฟันมีคราบหินปูนเกาะ ฟันผุ หรือฟันมีลักษณะเว้าแหว่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน

จมูก : จะต้องเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนจะเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับสีขน แต่ถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

หู : หูควรสั้นพอประมาณ ใบหูมีลักษณะห้อยปกลงแนบกับส่วนแก้ม รูปทรงค่อนไปทางรูปสามเหลี่ยม ปลายมน เวลาดึงใบหูไปด้านหน้าความยาวของใบหู หูควรปกคลุมลูกตาได้พอดี แต่ถ้าหากฐานใบหูตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป หรือหูมีลักษณะเหมือนสุนัขในกลุ่มฮาวน์ หรือดัชชุน ถือเป็นข้อบกพร่อง

ลำคอ : ควรยาวพอประมาณ ลำคอควรตั้งบนหัวไหล่ แลดูมั่นคงกล้ามเนื้อแลเห็นเด่นชัด ขนบริเวณรอบคอห้ามมีการตกแต่ง คอต้องไม่มีเหนียงยื่นโผล่ออกมา


ลำตัว : โครงสร้างลำตัวกระชับได้สัดส่วน อกลึกและกว้าง ความกว้างของอกอย่างน้อยควรมีขนาดพอๆ กับ ฝ่ามือของผู้ชายวางทาบเสมอพอดี ส่วนความลึกของอกควรลึกเสมอข้อศอกขาหน้า กระดูกซี่โครงควรโค้งได้รูปแข็งแรง โดยส่วนแผ่นหลังจะแลดูหนากว่าใต้ท้อง ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีความลึกและหนาแลดูบึกบึน แผ่นหลังเรียบตรง โดยมีลักษณะลาดเทจากหัวไหล่ ไปทางบั้นท้ายเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเวลายืนนิ่งๆ หรือกำลังเคลื่อนไหว โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีหน้าอกเล็กแคบ อกตื้น เส้นหลังแอ่นหรือลาดเทมากเกินไป หรือก้นโด่ง ลำตัวบอบบางเกินไป เวลาเคลื่อนไหวเส้นหลังแกว่ง แลดูขาดความแข็งแกร่งล้วนเป็นข้อบกพร่อง

อุ้งเท้า : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปทรงกลม อุ้งเท้ากระชับ นิ้งเท้าไม่กางแบะออกเหมือนตีนเป็ด ขนบริเวณใต้อุ้งเท้าควรได้รับการขลิบออก เพื่อช่วยให้การยึดเกาะมั่นคงยิ่งขึ้น นิ้วติ่งขาหน้าควรกำจัดออกให้หมด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยปรากฏนิ้งติ่งให้เห็น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เวอร์ที่มีอุ้งเท้าแบะหรืออุ้งเท้าแหลมคล้ายอุ้งเท้าของกระต่าย ถือเป็นข้อบกพร่อง

หาง : ควรตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลัง หางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณโคนหางควรจะมีกล้ามเนื้อ ปกติหางจะมีลักษณะห้อยลงต่ำโค้งได้รูปกับสะโพก ความยาวของหางพอๆ กับมุมข้อศอกขาหลัง ในยามที่สุนัขที่ดีใจหางจะโบกสะบัดไปมา บางครั้งอาจงอม้วนขึ้นสูงเหนือระดับแผ่นหลัง

ลำตัวหน้า : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเหมาะสมรับกับลำตัวส่วนหลังขณะที่เดินหรือวิ่ง การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ การก้างย่างของขาอยู่ในแนวเดียวกับรัศมีของหัวไหล่ กระดูกขามีขนาดค่อนข้างใหญ่และเหยียดตรง กระดูกข้อเท้าสั้นและแข็งแรง มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย

ลำตัวหลัง : หนาและแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บั้นท้ายมีลักษณะลาดเทเล็กน้อย กระดูกขาท่อนบนทอดไปทางด้านหลัง ส่วนกระดูกขาท่อนล่างเหยียดตรงทำมุมฉากกับพื้น ขน : ขนดกแน่น สามารถปกป้องน้ำได้เป็นอย่างดี ขนมี 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะยาวและมีลักษณะค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับหยาบกระด้าง เส้นขนมีความยืดหยุ่นในตัว ถ้าหากขนมีลักษณะเส้นเล็กหรือไม่ดกแน่นถือเป็นข้อบกพร่อง ลักษณะของขนที่ถูกต้องจะต้องขึ้นแนบติดลำตัว ส่วนเส้นขนจะเหยียดตรงหรือหยักศกเล็กน้อยไม่เป็นข้อบกพร่อง สำหรับขนบริเวณด้านหลังของขาและใต้ท้องจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าขนตามลำตัว โดยเฉพาะขนที่บริเวณใต้คอ ด้านหลังของต้นขาหลัง และขนใต้หาง จะมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ส่วนขนบริเวณศีรษะ ด้านหน้าของขา(หน้าแข้ง) และเท้าจะมีลักษณะสั้นและเรียบ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีเส้นขนยาวจนเกินไป ขนฟูเป็นกระเซิงไม่แนบติดกับลำตัว หรือมีขนเบาบางไม่ดกแน่น ขนเส้นเล็กล้วนถือเป็นข้อบกพร่อง การตัดแต่งขนจะตัดเฉพาะอุ้งเท้าเท่านั้น

สี : สีต้องเป็นสีน้ำตาลออกทอง ส่วนจะมีสีเข้มอ่อนไม่มีปัญหา ขนตามใบหน้าและลำตัวอาจจะมีเหลือบเทาหรือขาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นรอยแต้มด่างสีขาว หรือมีขนสีขาวขึ้นแซมถือเป็นข้อบกพร่อง ยกเว้นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีขนสีทองอ่อน ซึ่งมีสีจืดหรือจางมากๆ และสีขาวด่างที่ปรากฏแลดูกลมกลืนกับสีขน ก็ถือเป็นข้ออนุโลม และถ้าหากพื้นที่ของสีขนส่วนใหญ่มีสีซีดจางเกินไป หรือเข้มมากเกินไปก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ถามีขนออกไปทางโทนสีครีมอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลไหม้ ขนส่วนนี้จะต้องมีพื้นที่เป็นเพียงส่วนน้อยของขนทั้งหมด คือจะต้องมีโทนสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่ามาช่วยเสริม และสีขนส่วนที่จะมาช่วยเสริมต้องครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางสายพันธุ์ขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขอาจจะมีสีซีดจาง แต่เมื่อโตขึ้นสีก็จะเข้มขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับโกลเดน รีทรีฟเวอร์ที่มีสีอ่อน นอกเหนือจากที่กล่าวมาล้วนถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง


การเคลื่อนไหว : การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ แลดูนุ่มนวลแต่ทรงพลังและสง่างาม เวลาที่วิ่ง ระยะการย่างก้าวของขาหน้าและขาหลังจะต้องมาบรรจบกันที่กึ่งกลางลำตัว เวลาเดินหรือวิ่งขาต้องไม่แกว่งหรือปัด ซึ่งในการประกวดการเคลื่อนไหวของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ขนาด : เพศผู้ควรมีความสูงระหว่าง 23-24 นิ้ว(ความสูงวัดที่หัวไหล่ขาหน้า) ส่วนเพศเมียควรมีความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 21-22 นิ้ว หากความสูงน้อยกว่าหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 นิ้ว ถือเป็นข้ออนุโลม แต่ถ้าสูงหรือเตี้ยกว่าเกิน 1 นิ้ว จากเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงมาก สำหรับความยาวของลำตัวโดยวัดจากหน้าอกถึงบั้นท้าย ควรมีสัดส่วนความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย คือ สัดส่วน 12 :11 ส่วนน้ำหนักของสุนัขเพศผู้ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 65-75 ปอนด์ สำหรับเพศเมีย 55-56 ปอนด์

อารมณ์ : ควรมีความเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่มีนิสัยขี้หวาดระแวงและดูน่าเชื่อไว้วางใจได้ ไม่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย แต่ก็ไม่ขี้ขลาดตาขาวด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก..

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ไซบีเรีย ฮัสกี้ (SIBERIAN HUSKY)


สุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY มีถิ่นกำเนิดในไซบีเรียน สุนัขพันธุ์นี้ถูกคัดเลือกพันธุ์ขึ้น โดยชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า CHUKCHI เพื่อให้ทำหน้าที่ล่าสัตว์และเฝ้ายาม แต่ต่อมาถูกพัฒนาให้มีลักษณะของสุนัขลากเลื่อน ประมาณ ค.ศ. 1900 มีการแข่งขันสุนัขลากเลื่อน ALASKA โดยมีระยะทางถึง 400 ไมล์ สุนัขที่ชนะในการแข่งขันคือ สุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY หลังจากนั้นกีฬาแข่งลูกสุนัขลากเลื่อนก็เป็นที่นิยมมากขึ้น สุนัขพันธุ์นี้ก็มักจะชนะอยู่เสมอ AKC. รับรองสุนัขพันธุ์นี้ในปี ค.ศ. 1930

ประวัติ
ในสุนัขทุกสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาพันธุ์เป็นผลมาจากบรรพบุรุษเดียวกันนั่นคือสุนัขป่าโบราณ (วงศ์ Canidae) สุนัขเอซคิโม (สุนัขลากเลื่อน) เป็น พันธุ์สุนัข ที่มีภาพลักษณ์กระตือรือร้นอย่าง ไซบีเรียนฮัสกี้, ซามอย, และอลาสกันมาลามิว ที่สืบสายตรงจาก สุนัขพันธุ์ ลากเลื่อน การวิเคราะห์
ดีเอ็นเอที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ช่วยยืนยันว่ามันเป็นหนึ่งในพันธุ์สุนัขที่มีการเพาะเลี้ยงมาแต่โบราณดังที่เห็นได้จากอลาสกันมาลามิว

คำว่า "ฮัสกี้ (husky)" ได้มาจากชื่อที่ใช้เรียกชาวอินนูอิต (Inuit) ว่า "ฮัสกี้ส์ (huskies)" โดยคณะสำรวจคนขาว (Caucasian) คณะแรกๆ ที่มาถึงแผ่นดินของพวกเขา ส่วนคำว่า "ไซบีเรียน (Siberian)" ได้มาจาก
ไซบีเรียนั่นเองเนื่องจากความคิดที่ว่าสุนัขลากเลื่อนนี้ถูกใช้ในการข้ามสะพานแผ่นดิน (land bridge) ของช่องแคบเบอร์ริ่งที่เป็นทางเข้าสู่หรือออกจากมลรัฐอะแลสกา ซึ่งทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่ผู้ที่ทำการศึกษาค้นคว้า สุนัขที่สืบเชื้อสายมาจากสุนัขเอซคิโมสามารถพบได้ตลอดซีดโลกด้านเหนือจากไซบีเรียถึงประเทศแคนาดา, มลรัฐอะแลสกา, กรีนแลนด์, ลาบราดอร์(Labrador), และเกาะบัฟฟินค์(Baffin Island)
ด้วยความช่วยเหลือของไซบีเรียนฮัสกี้ ประชาชนของชนเผ่าต่างๆไม่เพียงแค่รอดตายเท่านั้นในการออกสำรวจดินแดนที่ไม่มีรู้จัก พลเรือเองโรเบิร์ต เพียร์รี่ (Robert Peary) แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาก็ได้รับความช่วยเหลือจากสายพันธุ์นี้ระหว่างคณะสำรวจของเขาออกสำรวจขั้วโลกเหนือ บทบาทของไซบีเรียนฮัสกี้ในกระทำหน้าที่นี้ไม่สามารถเป็นที่หยั่งรู้ได้

สุนัขจากแม่น้ำอานาเดียร์ (Anadyr River) และพื้นที่รอบๆถูกนำเข้ามาในมลรัฐอะแลสกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 (และเป็นเวลา 2 ทศวรรษ)ในช่วงตื่นทองเพื่อใช้เป็นสุนัขลากเลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน All-Alaska Sweepstakes (AAS) หรือการแข่งสุนัขลากเลื่อนทางไกลซึ่งเป็นระยะทาง 408 ไมล์ (657 กม.) จากเมืองนอมน์(Nome) ถึงเมืองแคนเดิล (Candle) ไปและกลับ "เล็กกว่า, เร็วกว่า และอดทนมากกว่า ในการบรรทุกน้ำหนักราว 100 - 120 ปอนด์ (45 - 54 กิโลกรัม)" มันเป็นส่วนสำคัญใกล้ชิดของผู้เข้าแข่งขันยาวนอมน์ที่มีชื่อเสียง ลีออนฮาร์ด เซพพารา (Leonhard Seppala) ที่เคยเป็นผู้เพาะเลี้ยงไซบีเรียนฮัสกี้มาก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 ถึงช่วง ค.ศ. 1920

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925 กันเนอร์ คาเซ็น (Gunnar Kaasen) เป็นผู้นำเซรุ่มไปถึงเมืองนอมน์เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1925 เพื่อรักษาโรคคอตีบ ได้ออกจากเมืองนีนนานา (Nenana) สู่เมื่องนอมน์เป็นระยะทางมากกว่า 600 ไมล์ ด้วยความพยายามของผู้เดินทางและความช่วยเหลือของสุนัขลากเลื่อน การแข่งสุนัขลากเลื่อนสู่เมื่องอิดิตทารอต (Iditarod Trail Sled Dog Race) ที่จัดขึ้นก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการขนส่งเซรุ่มนี้ และเหตุการณ์นี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในปี ค.ศ. 1995 ที่ชื่อ"บอลโต (Balto)" ตามชื่อของสุนัขนำทีมของกันเนอร์ และเพื่อเป็นเกียรติแก่สุนัขนำทีมบอลโต มีการสร้างรูปหล่อเหมือนที่ทำจากทองแดง ตั้งอยู่ในเซ็นทรอล ปาร์คในมลรัฐนิวยอร์ก มีคำจารึกดังนี้ อุทิศแก่จิตวิญญาณที่ทรหดของสุนัขลากเลื่อนที่นำเชื้อต้านพิษบนทางยากลำบากเต็มไปด้วยน้ำแข็ง 600 ไมล์, ข้ามน้ำที่แข็งตัว, ฝ่าพายุหิมะของขั้วโลกเหนือจากเมื่องนีนนานาสู่เมืองนอมน์ที่รอความช่วยเหลือให้พ้นจากโรคร้ายในฤดูหนาวปี ค.ศ. 1925 อดทน--ซื่อสัตย์--มีไหวพริบ

ในปี ค.ศ. 1930 ไซบีเรียนฮัสกี้ตัวสุดท้ายถูกนำออกจากรัฐบาลโซเวียดใกล้กับพรมแดนของไซบีเรียเพื่อการแลกเปลี่ยนกับภายนอก ปีเดียวกันมีการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้โดยสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (สหรัฐอเมริกา) เป็น 9 ปีหลังจากสายพันธุ์นี้ถูกจดทะเบียนในประเทศแคนนาดา ณ.วันนี้ไซบีเรียนฮัสกี้ที่จดทะเบียนในอเมริกาเหนือเป็นลูกหลานส่วนใหญ่ของไซบีเรียนฮัสกี้ที่ถูกนำเข้ามาในปี ค.ศ. 1930 และสุนัขของลีออนฮาร์ด เซพพารา เซพพาราเจ้าของคอกสุนัขในนีนนานาก่อนที่จะย้ายไปอยู่นิวอิงแลนด์ อาเทอร์ วาวเด็น(Arthur Walden) เจ้าของคอกสุนัขชินุก (Chinook) แห่งวอนนาแวมเซิด (Wonalancet) มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ผู้มีไซบีเรียนฮัสกี้ในคอกที่โดดเด่น สุนัขตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคอกของเขามาจากอะแลสกาโดยตรงและมาจากคอกของเซพพารา

ก่อนที่จะมีชื่อเสียง, ในปี ค.ศ. 1933 ว่าที่พลเรือเอกริชาร์ด อี. เบอร์ด (Richard E. Byrd) แห่งกองทัพเรือได้ซื้อสุนัขไซบีเรียนฮัสกี้ราวๆ 50 ตัวด้วยตัวเขาเอง หลายๆตัวถูกรวบรวมและฝึกจากคอกชินุกในมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เพื่อใช้ในคณะสำรวจของเบอร์ดที่เขาหวังจะเดินทางราวๆ 16,000 ไมล์ไปตามชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา ที่เรียกว่าปฏิบัติการกระโดดสูง (Operation Highjump) จากประวัติการเดินทางนี้เอง พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าไซบีเรียนฮัสกี้เพราะขนาดที่พอเหมาะ และความเร็วที่ดีเยี่ยม กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ใช้ไซบีเรียนฮัสกี้ในการค้นหาและช่วยเหลือในขั้วโลกเหนือของคำสั่งขนส่งทางอากาศระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ลักษณะของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้
ไซบีเรียนฮัสกี้ เป็นพันธุ์สุนัขทำงานที่มีขนาดกลาง วิ่งเร็วและฝีเท้าเบา รักอิสระ และมีท่วงท่าสง่างาม ลำตัวปกคลุมด้วยขนนุ่มและหนาปานกลาง หูตั้งและหางเป็นพวง ลักษณะการเดินนุ่มนวล แรกเริ่มทีเดียวไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นพันธุ์สุนัขที่มีความสามารถในการลากเลื่อนสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา ด้วยความเร็วปานกลางได้ในระยะไกล สัดส่วนลำตัวและรูปร่างของไซบีเรียน ฮัสกี้ สะท้อนให้เห็นถึงสมดุลของกำลัง ความรวดเร็ว และความอดทน ไซบีเรียน ฮัสกี้ เพศผู้ได้รับการเพาะพันธุ์ (Breed) ให้มีความแข็งแรงแต่ไม่หยาบคาย ขณะที่เพศเมียมีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ไซบีเรียน เป็นสุนัขที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี แต่ไม่ควรให้ลากหรือบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป


มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาดเป็นมิตร สุขุม สามารถทำงานร่วมกันเป็นฝูงได้
ส่วนหัว : มีขนาดปานกลางสมส่วนกับลำตัว หัวกะโหลกค่อนข้างกลม หัวกะโหลกระหว่างหูจะกว้าง และเรียวลงจรดตาทั้งสองข้าง
หู : มีขนาดปานกลางมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายหูมน ใบหูหนา มีขนแน่นหูตั้ง
ตา : มีลักษณะเป็นรูปกลมรี อยู่หางกันพอประมาณ ตามีสีน้ำตาลเข้ม
ดั้งจมูก : มีมุมหักพอประมาณ
ปาก : ความยาวของปากมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก ปากมีความกว้างพอประมาณ สันปากตรง โคนปากใหญ่ และเรียวลงจรดปลายจมูก ริมฝีปากตึง มีสีเข้ม
จมูก : มีสีดำ น้ำตาลเข้ม หรือชมพู ฟัน : ขาวสะอาด แข็งแรง ขบแบบกรรไกร
ลำตัว : มีขนาดปานกลาง เส้นหลังตรงขนานกับพื้น ความยาวของลำตัวมากกว่าความสูงของลำตัวเล็กน้อย



คอ : มีความยาวปานกลาง มีลักษณะโค้ง ขณะเดิน หรือวิ่ง คอจะยืดไปข้างหน้า
ลำตัวส่วนหน้า : หัวไหล่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ แข็งแรง
อก : มีลักษณะแข็งแรง อกลึกจรดข้อศอก อกมีความกว้างพอประมาณ ไม่กว้างจนเกินไป
ขาหน้า : มองจากด้านหน้าขาหน้าทั้งสองข้างตรง ห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างข้อเท้าเอียงเล็กน้อย ท่อนขาตรง ความยาวของขาจากข้อศอกถึงพื้นจะมากกว่าความยาวจากข้อศอกถึงหัวไหล่เล็กน้อย เท้ามีลักษณะกลมรี นิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น
ขาหลัง : ท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีกำลังมาก ข้อเท้าหลังแข็งแรง มองจากเท้าหลัง ขาหลังทั้งสองข้างตั้งตรงขนานกัน ห่างกันพอเหมาะ เท้ามีลักษณะกลมรีนิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น
หาง : มีขนเป็นพวง หางมักจะยกสูงโค้งเล็กน้อย หางไม่บิดเอียงไปทางซ้ายหรือขวา
ขน - สี : ขนมีสองชั้น ขนชั้นในนุ่ม ขนชั้นนอกแข็งแนบชิดผิวหนัง ขนมีหลายสี ตั้งแต่สีดำหรือขาวล้วน
ขนาด : เป็นสุนัขที่มีขนาดปานกลาง
น้ำหนัก : เพศผู้หนักประมาณ 45 - 60 ปอนด์ เพศเมียหนักประมาณ 35 - 50 ปอนด์
ส่วนสูง : เพศผู้สูงประมาณ 21 - 23.5 นิ้ว เพศเมียสูงประมาณ 20 - 22 นิ้ว
การเดิน - วิ่ง : มีความสง่างาม เคลื่อนที่ได้เร็ว ขณะวิ่งเท้าไม่บิด หรือปัด
ข้อบกพร่อง : หูใหญ่ หูตก หางม้วนมาก


วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เฟรนซ์ บูลด็อก (French Bulldog)


ประมาณปี 1860 มีสุนัขพันธุ์ Bulldog มากมายในประเทศอังกฤษและสุนัขชนิดนี้ไม่ค่อยนิยมเลี้ยงเท่าไร พันธุ์สุนัขเหล่านี้บางส่วนถูกส่งเข้าไปในประเทศฝรั่งเศส และได้ผสมกับสุนัขพันธุ์ต่างๆในฝรั่งเศส จนในที่สุดเกิดเป็นสุนัขพันธุ์ French Bulldog ขึ้นและสุนัขพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงในประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะสุภาพสตรี ปี 1880 ปารีส เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของชาวอเมริกาผู้มั่งคั่ง และเมื่อมีข่าวสุนัขพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ต่างก็ต้องการอยากจะไปดูด้วยตาตนเอง สิ่งที่พวกเขาได้พบคือสุนัขพันธุ์ French Bulldog สุนัขพันธุ์นี้มาจากอังกฤษ ความจริงอเมริกามีอิทธิพลในการเลือกเพาะพันธุ์นี้ขึ้นมาให้มีลักษณะอย่าง French Bulldog


ในปัจจุบันได้รับการยอมรับที่สามารถให้พัฒนาให้มีหัวอย่างมัสตีฟ ขากรรไกรเป็นรูปสี่เหลี่ยม ลำตัวกะทัดรัดและที่สำคัญคือที่ใบหูเหมือนค้างคาวอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ French Bulldog เป็นสุนัขพันธุ์เล็กน้ำหนักไม่เกิน 28 ปอนด์ หน้าเหมือน Bulldog ทั่วไป ริมฝีปากหนา จมูกหักสั้นเข้าไปด้านใน นัยน์ตาสดใส ลักษณะพิเศษคือใบหูเหมือนค้างคาว ซึ่งไม่มีสุนัขพันธุ์ใดในโลกนี้เหมือนเขาจะเห่าและขู่บ้าง แต่มีความเป็นมิตรชอบทำตัวเป็นเจ้าของบ้านมากกว่าเป็นผู้อารักขา พร้อมที่เป็นมิตรกับคนแปลกหน้าเสมอไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็ก แมว และสัตว์อื่นๆ มีนิสัยขี้เล่น ร่าเริงรักเด็กขนาดใกล้เคียงกับ Pug และ Boston Terrier

มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ชอบเล่น ตื่นตัวอยู่เสมอ
ศีรษะ : มีขนาดใหญ่คล้ายทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หัวกะโหลกระหว่างหูค่อนข้างแบน
หน้าผาก : มีลักษณะโค้งเล็กน้อย แก้มมีกล้ามเน้อชัดเจน
หู : มีลักษณะเหมือนหูค้างคาว โคนหูใหญ่ ค่อนข้างยาว ปลายหูกลม โคนหูอยู่ค่อนข้างสูง
ตา : มีสีเข้ม ขนาดปานกลาง ตาค่อนข้างกลม ตาค่อนข้างห่างจากหู ตาไม่ลึกหรือโปน
ดั้งจมูก : มีมุมหักชัดเจนทำให้มีหลุมลึก
ปาก : มีลักษณะกว้างและลึก มุมปากเหนียงและค่อนข้างหนา กรามแข็งแรงขณะหุบปากไม่เห็นฟันยื่นออกมา
จมูก : มีลักษณะสั้น รูจมูกกว้าง จมูกมีสีดำ หรือสีจาง ขึ้นอยู่กับสีของขน
ฟัน : แข็งแรง ขบแบบ UNDERSHOT


ลำตัว : มีลักษณะสั้นกลม เส้นหลังโค้ง บริเวณหัวไหล่ค่อนข้างกว้างบริเวณเอวเล็ก
คอ : มีลักษณะกลมหนา หนังคอบริเวณลูกกระเดือก ค่อนข้างย่น
อก : กว้างและลึก
ขาหน้า : มีกระดูกใหญ่ ขาหน้าค่อนข้าสั้น ขาหน้าประกอบด้วยกล้ามเนื้อขา ขาหน้าตั้งตรงขาหน้าทั้งสองห่างกันพอสมควร เท้าหน้าขนาดพอเหมาะนิ้วเท้าชิด
ขาหลัง : ประกอบด้วยกล้ามเนื้อขาหลังตรง ห่างกันพอประมาณข้อเท้าหลังอยู่ในระดับต่ำ เท้าหลังมีขนาดพอเหมาะนิ้วเท้าชิด เท้าหลังใหญ่กว่าเท้าหน้าเล็กน้อย
หาง : โคนอยู่ในระดับต่ำ หางตรงหรือเป็นเกลียวได้ หางค่อนข้างสั้น ขน-สี : ขนสั้นนุ่ม ขนมีหลายสี เช่น น้ำตาล ขาว น้ำตาลขาว หนังค่อนข้างย่น
น้ำหนัก : ชนิดเล็กมีน้ำหนักน้อยกว่า 22 ปอนด์ ชนิดใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 22-28 ปอนด์
ข้อบกพร่อง : หูไม่เหมือนค้างคาว สีดำ-ขาว สีดำ-น้ำตาล ตามีสีไม่เหมือนกัน น้ำหนักเกิน 28 ปอนด์


ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก..

บูลด็อก (Bulldog)

ประวัติความเป็นมา

มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ จัดอยู่ในกลุ่มมาสติฟ (Mastiff) โดยเชื่อกันว่าบูลด็อกเป็นสุนัขกลายพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ Tibetan Mastiff ที่ดูโครงสร้างภายนอกไม่สมประกอบ มีตำราบางเล่มระบุว่าบูลด็อก เป็นสุนัขที่เกิดจากการถูกผู้เลี้ยงดูอย่างทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งสุนัขที่มีรูปร่างหน้าตาไม่สมประกอบ เช่น การนำวัสดุแข็งๆ มาทำเป็นหน้ากากคลุมหัวบูลด็อกไว้ เพื่อให้มีใบหน้าสั้นผิดปรกติไปจากสุนัขตัวอื่นๆ หรือการยับยั้งการเจริญเติบโตของสุนัขด้วยการขังไว้ในที่แคบๆ จนแทบไม่สามารถกระดิกตัวได้ เพื่อให้สุนัขมีรูปร่างแคระแกร็น

คำว่า บูล (Bull) ซึ่งหมายถึงบูลด็อกเป็นสุนัขที่มีรูปร่างคล้ายวัวขนาดเล็ก ชื่อนี้ได้มาจากการที่ชาวอังกฤษในสมัยยุคก่อนๆ ได้ฝึกสุนัขพันธุ์นี้ไว้เพื่อต่อสู้กับวัว เป็นการยากที่จะหาหลักฐานมาอ้างอิงว่าบูลด็อกกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่มีข้ออ้างอิงที่เป็นไปได้คือ ในสมัยปี ค.ศ. 1209 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของกษัตริย์จอห์น โดยท่านลอร์ดวิลเลี่ยม เอริล์วอร์เรนได้มองเห็นวัว 2 ตัว กำลังต่อสู้กันในสนามหญ้าหน้าวังของท่าน เพื่อแย่งชิงวัวตัวเมียอีกตัวหนึ่ง จนกระทั่งฝูงสุนัขเลี้ยงวัวของคนเลี้ยงวัวได้ออกมาขับไล่วัวคู่นั้นออกไปจากบริเวณสนาม ท่านลอร์ดมีความยินดีมากและเกิดความคิดที่ว่าจะให้มีเกมกีฬาชนิดใหม่ขึ้นมา คือกีฬาสุนัขต่อสู้กับวัว ซึ่งต่อมาก็เป็นกีฬาที่นิยมกันมากในประเทศอังกฤษ


บูลด็อกโดยมากจะได้รับการฝึกให้มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย โดยเจ้าของสุนัขจะลงโทษด้วยวิธีการที่เจ็บปวด จึงทำให้บูลด็อกในอดีตมีนิสัยที่ดุร้าย ในการต่อสู้ในเกมกีฬาที่แสนหฤโหดและนองเลือด บูลด็อกจะถูกปล่อยลงสนามให้ต่อสู้กับวัวที่กำลังบ้าคลั่ง โดยมันจะบุกโจมตีบริเวณใบหูของวัว และกัดอยู่นานจนกว่าจะล้มวัวตัวนั้นได้ ต่อมาก็ได้มีการผสมพันธุ์เจ้าหน้าแก่นี้เสียใหม่ให้มีตัวเล็กลง เพื่อความว่องไวและปราดเปรียว ขณะเดียวกันจมูกที่เคยโด่งออกก็ถูกผสมให้แนบแบนติดกับใบหน้าเสีย เพราะจะทำให้มันโจมตีคู่ต่อสู้ได้นานกว่าเดิม

ยุคแรกๆ ของบูลด็อกมีขายาวกว่าพันธุ์ที่เห็นในปัจจุบัน แต่กระดูกเบากว่า ปากใหญ่และกะโหลกศีรษะเล็กกว่าทุกวันนี้ หูก็มีลักษณะตูบเล็กเพื่อความทนทานในการเสียดสีเมื่อต่อสู้ อีกประการหนึ่งก็คือหางยาวและม้วนพอง มีไว้ให้เจ้าของดึงออกจากคู่ต่อสู้ขณะต่อสู้อยู่

แต่แล้วยุคเสื่อมของบูลด็อกก็มาถึง เมื่อกีฬาต่อสู้กับวัวเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1835 กีฬาการต่อสู้สุนัขถูกบัญญัติให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย บูลด็อกจึงค่อยๆ หมดความหมายและพลอยถูกลืมเลือนไปด้วย ช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์แห่งเผ่าพันธุ์ก็เริ่มหมดลง จำนวนของบูลด็อกก็ได้ลดลงไปมาก แต่โชคดีที่มีคนรักสุนัขและเสียดายในสายพันธุ์ ได้ยื่นมือเข้ามาอนุรักษ์สายเลือดนี้ไว้ แม้ว่าความดุร้ายจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แต่คงลักษณะที่ดีๆ อย่างอื่นเอาไว้ จากหลักการนี้บูลด็อกจึงได้รับการคัดเลือกพันธุ์ตามวิธีการที่ถูกต้อง ภายในเวลาเพียงไม่กี่รุ่นก็ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมีการประกวดบูลด็อกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 และในปี ค.ศ. 1864 ก็ได้ตั้งสมาคมอนุรักษ์สุนัขพันธุ์บูลด็อกขึ้น บูลด็อกยังคงลักษณะที่ดีเด่นเอาไว้ครบถ้วน แต่ความโหดร้ายดุดันดั้งเดิมได้ถูกตัดออกไป จนถึงบัดนี้บูลด็อกได้รับการยกย่องเป็นสุนัขประจำชาติอังกฤษ เนื่องจากความอดทนกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของมัน วิญญาณของความเป็นนักสู้ในอดีตยังคงปรากฏให้เห็น แม้ว่าวันเวลาที่ผ่านไปจะทำให้มันเกิดเชื่องช้าลงบ้างก็ตาม


มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : บูลด็อกที่สมบูรณ์แบบต้องมีขนาดปานกลาง รูปรางบึกบึนและหนา กระดูกและกะโหลกศีรษะมีขนาดใหญ่มาก หน้าสั้น ใหญ่ กว้าง บริเวณหน้าผากมีรอยย่นลึก ตาอยู่ในตำแหน่งห่างจากใบหู กล้ามเนื้อหนังตาบนจะย่นเหมือขมวดคิ้วอยู่ตลอดเวลา ริมฝีปากหนาและกว้าง มีกล้ามเนื้อหนาแน่น แขน ขาล่ำสัน แข็งแรง แผ่นหลังโค้งเล็กน้อย และจะยกสูงบริเวณสะโพก ลำตัวส่วนท้องจะคอด กระดูกซี่โครงมีลักษณะห่อกลมคล้ายมะขามป้อม ตะโพกค่อนข้างเล็ก หางสั้นและขดแน่นกับส่วนหลัง ด้านอุปนิสัยมีความทรหดอดทน อารมณ์คงที่มั่นคงอย่าเสมอต้นเสมอปลาย มีความตั้งใจแน่วแน่ กล้าหาญ พฤติกรรมที่แสดงออกเป็นไปอย่างสงบและสง่า ท่าทางการเดินมีลักษณะแปลกเฉพาะตัว คล้ายข้อต่อกระดูกไม่แข็งแรง เหมือนการลากไป มีลักษณะการเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างคล้ายการกลิ้งไป แต่อย่างไรก็ตามการเคลื่อนที่ต้องไม่เกร็ง เป็นอิสระและเข้มแข็ง
ศีรษะ : ควรมีขนาดใหญ่ เมื่อวัดรอบศีรษะ โดยวัดจากด้านบนลงล่างผ่านใบหูควรจะมีความยาวมากกว่าความสูงของตัว เมื่อมองจากด้านหน้าศีรษะควรสูงมาก เมื่อมองจากมุมของขากรรไกรล่างไปถึงจุดสูงสุดของกะโหลกกว้างมากเป็นสี่เหลี่ยม เมื่อมองจากด้านข้างศีรษะอยู่สูงมาก และจากจมูกถึงท้ายทอยสั้นมาก หน้าผากควรมีรอยย่นลึกเป็นแนว และมีเส้นผ่าลึกลงมาจากส่วนบนมายังจมูกและปาก
จมูก : จมูกควรใหญ่ แลดูกว้างแต่สั้น ปลายจมูกควรจะมีรอยย่นลึก จมูกมีเส้นแบ่งเขตแนวชัดเจน รูจมูกใหญ่และเชิด จมูกควรจะมีสีเข้ม หากเป็นสีดำสนิทได้ยิ่งดี จมูกสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำไม่เป็นที่นิยม จมูกแดงเป็นสีเดียวกับสีผิวถือว่าผิดลักษณะ และถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือว่าเป็นจุดด้อยอย่างมาก นอกจากนี้จมูกต้องไม่แห้งหรือเปียกชุ่มเกินไป
ปาก : ริมฝีปากบนควรหนา กว้างและลึกมากห้อยลงมาปิดกรามล่างได้มิดชิด หากมองจากด้านข้างจะปิดริมฝีปากล่างและฟันมิดชิด แผ่นหลังที่หุ้มปากทั้งสองด้านควรมีขนาดใหญ่และยาวเท่าๆ กัน ขากรรไกรล่างใหญ่กว้าง เป็นสี่เหลี่ยมยื่นเลยขากรรไกรบนและงอนขึ้น
ฟัน : ฟันควรอยู่ครบ 42 ซี่ ฟันล่างจะเกยอยู่ด้านนอก ฟันที่ดีต้องซี่ใหญ่แข็งแรงมั่นคง ฟันที่ยื่นออกมาต้องไม่มีลักษณะโค้งงอ ฟันเขี้ยวอยู่ห่างจากกัน ฟันตัด 6 ซี่ที่อยู่ด้านหน้าระหว่างฟันเขี้ยวอยู่ในแนวระดับเดียวกัน เวลาอ้าปากจะเห็นฟันซี่เล็กๆ 6 ซี่ทางด้านหน้า เวลาหุบปากไม่ควรจะให้เห็นฟันจึงจะดี และฟันควรขาวสะอาด


ตา : ดวงตาควรมีลักษณะกลม ขนาดปานกลาง ไม่จมลึกหรือยื่นออกมามากเกินไป เมื่อมองจากด้านหน้าจะฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ อยู่ห่างจากหูมาก และตาทั้ง 2 ข้างไม่ควรอยู่ห่างกันมากนัก สีลูกตาควรเป็นสีเข้ม หนังตาปิดตาขาว
หู : ฐานหูทั้ง 2 ข้างควรจะยกสูงและควรจะอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลกัน ใบหูควรเล็กและบาง ปลายหูควรพับลงมาแนบกับศีรษะ ควรอยู่ห่างจากตาพอเหมาะ ลักษณะใบหูที่ดีควรมีลักษณะโคนตั้งปลายตกหรือกับกลีบดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุด หูไม่ควรตั้งตรงและไม่ควรตกลงมาทั้งหมด
คอ : เนื่องจากบูลด็อกเป็นสุนัขที่มีส่วนหัวใหญ่ ลำคอจึงควรใหญ่หนา สั้นและแข็งแรง และเป็นส่วนโค้งทอดไปยังส่วนหลัง หนังใต้ลำคอจะหย่อนลงมาเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ควรปล่อยให้ยาน เพราะถ้ายานและมีหนังหย่อนมามากแสดงว่ากำลังอ้วนเป็นพะโล้ แก้ไขโดยการออกกำลังกายบ่อยๆ
ไหล่ : หัวไหล่ควรมีขนาดใหญ่ กว้างและมีมัดกล้ามเนื้อหนา ก่อให้เกิดความสมดุลและพละกำลังมาก
อก : กว้างมาก ลึกและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เห็นกล้ามเนื้อที่อกได้ชัดเจน ซี่โครงโค้งกลมจากหัวไหล่จนไปถึงจุดต่ำสุดของหน้าอก ทำให้สุนัขมองดูมีลักษณะกว้าง เตี้ยและขากว้าง
ลำตัว : แข็งแรงกำยำ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ไม่ควรผอมจนเห็นซี่โครงและไม่ควรอ้วนจนมองไม่เห็นกล้ามเนื้อบริเวณท้องน้อยควรจะขอดเล็กน้อย แนวสันหลังควรสั้นและแข็งแรง บริเวณที่ไหล่กว้างมากและค่อนข้างแคบ บริเวณบั้นท้ายซึ่งเป็นจุดที่ควรสูงกว่าความสูงที่ไหล่และมีความโค้งลาดต่ำอีกครั้งลงไปที่หาง ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นชัดมากสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ จึงเรียกว่าหลังแมลงสาบหรือหลังวงล้อ
สะโพก : ควรจะโค้งมนได้รูป ส่วนก้นกลมและไม่มีกระดูกโปนออก
ขาหน้า : ควรสั้น สุนัขพันธุ์นี้มีขาหน้าที่สั้นกว่าขาหลัง ดังนั้นเมื่อสุนัขยืนจะทำให้ช่วงหน้าของลำตัวต่ำกว่าบั้นท้าย ขาที่ดีต้องแข็งแรง กระดูกขาใหญ่ ต้นขาเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ขาหน้าเวลายืนควรอยู่ห่างกัน ช่วงบนของขาหน้าแลดูเป็นวงโค้ง ข้อศอกควรอยู่ห่างจากลำตัว เท้าและนิ้วเท้าใหญ่พอประมาณแลดูกระทัดรัด เล็บที่ขาควรมีสีเข้มและควรเป็นสีเดียวกันกับขนบนลำตัว


ขาหลัง : แข็งแรง เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อและยาวกว่าขาหน้า เวลายืนตะโพกจะเชิดสูงทำให้ดูหลังแอ่น ส่วนขาควรสั้นและแข็งแรง ลักษณะของเท้าที่ดี ข้อเท้าที่ขาหลังควรจะหันออกจากลำตัวเล็กน้อย ขาหลังควรบิดออกเล็กน้อย
เท้า : ควรมีขนาดปานกลาง กระทัดรัดและแข็งแรง ปลายเท้าหน้าอาจตรงหรือเปิดออกเล็กน้อย แต่ขาหลังควรยื่นออกด้านนอก
หาง : อาจตรงหรือเป็นเกลียว แต่ไม่โค้งหรือม้วน หางต้องสั้น ห้อยต่ำ โคนหางใหญ่ ปลายเล็ก ถ้าหางเป็นเกลียว การม้วนหรือขมวดของหางจะมีลักษณะเป็นเกลียวคล้ายก้นหอยแต่ต้องไม่หงิกงอ ปลายหางไม่ควรม้วนลงไปถึงโคนหาง
ขน : ขนควรสั้นและเหยียดตรงแบนราบกับลำตัว สีของขนควรสม่ำเสมอ สะอาดสดใสและดูเป็นมันเงา ขนต้องไม่ยาวหรือขึ้นเป็นลอน
ผิวหนัง : อ่อนนุ่มและไม่ตึง โดยเฉพาะที่หัว คอและหัวไหล่ รอยย่นและเหนียงตรงคอ ศีรษะและหน้าควรปกคลุมด้วยรอยย่นขนาดใหญ่ และที่คอจากขากรรไกรจนถึงหน้าอกควรจะมีรอยย่นที่ห้อยออกมาเป็น 2 แนว
สี : สีขนของบูลด็อกมีหลายสี สำหรับสีขนที่ถือเป็น 2 สีในตัวเดียวกัน ในสุนัขที่มี 2 สี แต่ละสีควรเป็นสีเดียวที่บริสุทธิ์ไม่มีสีอื่นเจือปนให้เป็นสีผสม และควรมีการกระจายสีในลักษณะที่สมดุล บูลด็อกที่มีสีดำทั้งตัวไม่เป็นที่นิยม แต่ก็ไม่ถึงกับไม่เป็นที่ยอมรับ สำหรับบูลด็อกที่มีสีนอกเหนือจากที่กล่าวมาในข้างต้นถือว่าใช้ไม่ได้
การเดินการวิ่ง : ถึงแม้จะดูอืดอาดเชื่องช้าเวลาเดินต้องส่ายสะโพกไปมา ลักษณะการก้าวย่างควรดูอิสระ คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่อืดอาดเวลาเดิน ลำตัวต้องไม่แกว่งมาก จนดูเหมือนไม่มีกระดูก
น้ำหนักและส่วนสูง: เพศผู้ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วงระหว่าง 24-25 กิโลกรัม เพศเมียอยู่ในช่วง 22-23 กิโลกรัม ส่วนความสูงเพศผู้ควรอยู่ระหว่าง 16-18 นิ้ว และเพศเมียควรสูง 12-15 นิ้ว
ข้อบกพร่อง : จมูกมีสีเนื้อหรือจมูกเผือก

ข้อมูลอ้างอิงจาก..

http://women.sanook.com/pets/breed/dogs_44600.php

ปักกิ่ง (Pekingese)



ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์สุนัขส่วนมากเมื่อเขียนถึงสุนัขพันธุ์ปักกิ่งก็จะเริ่มต้นว่า พันธุ์ปักกิ่งเกิดขึ้นมานานแล้วเป็นเวลาหนึ่งหรือสองพันปีขึ้นไป สุนัขสายพันธุ์ปักกิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นจะคล้ายคลึงกับสุนัขขนาดเล็กของจีนยุคโบราณ

ย้อนเวลากลับไป มีหลักฐานว่าคนจีนเลี้ยงสุนัขขนาดเล็กมาตั้งแต่ 1500 ปีก่อนแล้ว ในปี ค.ศ. 565 พระเจ้าจักรพรรดิประเทศจีนทรงพระราชทานนามสุนัขของพระองค์ว่า "ชิ ซู" หรือ "เสือแดง" เป็นสุนัขเปอร์เซียน เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงม้า "เสือแดง" จะขึ้นไปนั่งบนตะกร้าที่ผูกไว้ด้านหน้าอานม้า ในปี ค.ศ. 620 มีบันทึกว่าสุนัขตัวผู้ตัวเมียคู่หนึ่ง สูงประมาณ 6 นิ้ว ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจักรพรรดิเกาสู บันทึกอ้างว่าสุนัขคู่นี้มีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถนำทางม้าในเวลากลางคืน



หลักฐานทำนองนี้สืบเนื่องกันมากจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อราชวงศ์ของกุบไลข่านถูกพิชิตลง บันทึกหลักฐานต่างๆ ก็หมดสิ้นลงไปด้วย เป็นเวลาสืบเนื่อง 33 ปี เรารู้แต่ว่าคนจีนหันมานิยมเลี้ยงแมวแทนสุนัข โดยเฉพาะในสังคมชั้นสูง ธรรมเนียมการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ขนาดเล็กของจีนมาพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดระหว่างปี ค.ศ. 1820 ถึง 1850 ในช่วงเวลานั้นมีสุนัขอยู่หลายพันธุ์ในนครปักกิ่ง พวกขันที 4,000 คน ยังมีหน้าที่เฉพาะในการผลิตเพาะสุนัขแบบที่เราเรียกว่า "พันธุ์ปักกิ่ง" ด้วย พระนางซูสีไทเฮาทรงเป็นผู้ทำนุบำรุงกิจกรรมนี้ พระนางยังทรงกระตุ้นให้สร้างรูปแบบพันธุ์คล้ายกับ "สุนัขสิงห์โต" แบบเก่า กิจกรรมข้อหนึ่งก็คือจัดร่างกฎเกณฑ์แบบเฉพาะของสุนัข ข้อความที่นำมาเสนอแบบย่อๆ มีดังนี้ "จงให้มันสวมคลุมขนแห่งความสง่ารอบๆ คอ ขาคู่หน้าของมันจะต้องโค้ง เพื่อไม่ให้มันเดินออกไปไกลๆ หรือเดินออกนอกเขตพระราชฐาน จงสอนมันให้ละเว้นการเตร็ดเตร่ไปมา ให้มันมีขนเหมือนสิงห์โต เหมาะที่จะอุ้มไว้ในชายแขนเสื้อคลุม …" กฤษฎีกานี้ยังกำหนดต่อไปถึงอาหารของสุนัข เช่น "หูฉลาม" "ตับนก" และ "ส่วนอกนกกระทา" เราอาจจะไม่ถือเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังนัก อย่างไรก็ตามหลักฐานนี้ทำให้เรารู้ว่ามี สุนัขพันธุ์ ปักกิ่งเกิดขึ้นมาแล้วและมักจะพบ สุนัขพันธุ์ นี้ในพระราชวังเท่านั้น ในสมัยก่อนผู้ใดขโมย สุนัขพันธุ์ นี้จะได้รับโทษถึงประหารชีวิต พระราชวังแห่งปักกิ่งถูกชาวต่างชาติบุกเข้ายึดครองเมื่อปี ค.ศ. 1860 ก่อนการสูญเสียมีคำสั่งจากพระราชวงศ์ว่าให้สุนัขตายไปเสียดีกว่าจะให้ตกอยู่ในมือของคนต่างชาติ เจ้าฟ้าหญิงพระองค์หนึ่งไม่ยอมเสด็จหนี ทั้งไม่ยอมให้ทหารดรากูนเข้าจับกุมด้วย ทรงปลงพระชนม์ชีพของพระองค์เอง แต่ไม่ได้ทำลายสุนัขที่เลี้ยงไว้ สุนัขปักกิ่งสี่ตัวถูกทหารยึดได้ ตัวหนึ่งถูกส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระราชินีวิคตอเรีย อีก 3 ตัวที่เหลือยุคแห่งริชมอนด์เลี้ยงดูไว้ ต่อมาก็มีผู้นำตัวอื่นๆ เข้าสู่อังกฤษอีก ตัวหนึ่งได้นำถวายควีนวิคตอเรีย ส่วนอีก 3 ตัวมอบให้ LORD HAY และได้แพร่พันธุ์กระจายไปทั่วไปโลก ซึ่งก็หมายถึงการเลี้ยงดูเพาะสร้างสายพันธุ์ที่ตามมา



เรื่องราวเหล่านี้อ่านแล้วเหมือนนิยาย แต่ก็เป็นเรื่องจริง เรื่องคล้ายนิยายและความเกี่ยวพันกับราชวงศ์ซึ่งเป็นของสูงนี้ ทำให้พันธุ์ปักกิ่งได้รับความนิยมอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น LION DOG SUN DOG หรือ STEEVE DOG ปักกิ่งเป็นสุนัขขนาดเล็กที่น่าสนใจที่สุดและมีบุคลิกลักษณะที่ผิดธรรมดาที่สุด มันมีลักษณะผสมกันประหลาดๆ ของความขบขันและความทรนง เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ด้วยทั้งยังมีความหัวแข็งดื้อรั้นอย่างน่าทึ่ง บางครั้งก็ไม่ยอมรับคำสั่งโดยเด็ดขาด พวกมันชอบเก้าอี้นวมบุแพรไหม แต่ถ้ามีอารมณ์สนุกแล้วก็อกไปวิ่งไล่จับกระต่ายเลย ลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้ทำให้ สุนัขพันธุ์ นี้พุ่งขึ้นไปสู่ระดับสุดยอด พันธุ์ปักกิ่งไม่เคยหลุดออกจากยี่สิบอันดับแรกสุนัขยอดนิยมของอังกฤษ (Top Twenty) และยังคงติดอันดับสูงมาจนทุกวันนี้ สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้นทั้งๆ ที่พันธุ์ปักกิ่งเพิ่งเข้าไปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ก็เป็นสุนัขระดับยอดนิยมแล้ว

มาตราฐานสายพันธุ์
ศีรษะ : มีขนาดใหญ่ แข็งแรง กว้างและแบน ในช่วงระหว่างหูทั้งสองข้างจะต้องไม่มีโค้งนูนเป็นโดม มีระยะระหว่างตาทั้งสองข้างกว้า
จมูก : จมูกสีดำ กว้าง สั้นและแบน
ตา : ตาโต สีเข้ม กลมนูนเด่นประกาย
สต๊อป : หรือรอยต่อระหว่างสันจมูกกับหน้าผากจะต้องลึกมาก
หู : มีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ไม่อยู่สูงเกินไป ยาวพอสมควร ปลายหูอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงปากเล็กน้อย ห้อยตกลงแนบแก้ม ปกคลุมด้วยขนที่ยาวมาก
ช่วงปาก : สั้นมาก กว้าง มีรอยย่น ไม่ยื่นแหลม แข็งแรง ขากรรไกรล่างกว้าง ฟันไม่ยื่นให้เห็นนอกริมฝีปาก
รูปร่างของลำตัว : ลำตัวช่วงหน้าใหญ่หนักแข็งแรง หน้าอกกว้าง ซี่โครงโค้งกว้างค่อยๆ เรียวลงทางด้านหลัง รูปร่างเหมือนสิงโต หลังเรียบขนานกับพื้น ลำตัวสั้นยกเว้นตัวเมียที่อาจยาวกว่าตัวผู้ได้เล็กน้อย
ขา : ขาสั้น ขาหน้ามีกระดูกช่วงบนโค้ง ไหล่แข็งแรง ขาหลังมีกระดูกที่เล็กบางกว่าเล็กน้อย แต่แข็งแรงและได้สัดส่วน
เท้า : เท้าแบน ปลายเท้าเฉียงออก ไม่มีลักษณะกลม จะต้องยืนได้มั่นคงบนเท้าไม่ใช่ยืนบนข้อเท้า
ลักษณะท่าทาง : ไม่กลัวใคร เป็นอิสระ แข็งแรง ลักษณะการเดินจะมีการโยกตัวซ้ายขวาอย่างนุ่มนวล(ROLL)
ขน : ขนยาว มีขนชั้นในที่หนาแน่น ขนมีลักษณะเป็นเส้นตรง เรียบไม่หยิกเป็นคลื่น ค่อนข้างหยาบแต่นุ่ม ขนบริเวณสะโพก ขา หางและหูจะต้องยาวและฟูมาก
ขนแผงคอ : ยาวและฟูมาก กว้างเกินหัวไหล่ ปกคลุมตลอดรอบลำคอ
สี : มีได้ทุกสีคือ แดง ฟอน (สีโทนน้ำตาล) ดำ ดำกับแทน (BLACK AND TAN) เซเบิล (ขนสีดำที่ปกคลุมสีของลำตัวที่อ่อนกว่า) บรินเดิ้ล (ขนสีเข้มและสีอ่อนขึ้นแซมกันทั่วตัว) ขาวและขน 2 สี (PATICOLOR) คือ จะต้องมีสี 2 สีที่แยกจากกันอย่างชัดเจนกระจายอยู่ทั่วตัว ไม่มีสีใดสีหนึ่ง เป็นบริเวณกว้างอยู่สีเดียว จะต้องมีสีขาวปรากฎบริเวณหลัง สำหรับสุนัขที่มีสีเดียว แต่มีเท้ากับหน้าอกยาว ไม่นับเป็นประเภทขนสองสี
หาง : ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูง วางพาดไปบนหลัง ปลายหางตกลงด้านใดด้านหนึ่ง มีขนยาวตรงแน่นและฟูมาก
ขนาด : เนื่องจากปักกิ่งเป็นสุนัขตุ๊กตา (TOY) จึงนิยมให้มีขนาดเล็ก โดยจะต้องมีลักษณะที่ถูกต้อง น้ำหนักจะต้องไม่เกิน 14 ปอนด์
การแสดงออก : จะต้องแสดงออกถึงต้นกำเนิดเดิมในประเทศจีน คือ มีความกล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง เหมือนสิงโตที่มีขนาดเล็ก มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กลัวใคร พร้อมที่จะต่อสู้ป้องกันตัวแต่ไม่ดุร้าย ไม่ควรมีลักษณะอ่อนหวานหรือบอบบาง
ข้อบกพร่อง : ที่จะถูกหักคะแนน ในการประกวด ลิ้นยื่นให้เห็นนอกปาก ตาเจ็บอักเสบ ขากรรไกรบนยื่นกว่าขากรรไกรล่าง (OVERSHOT) และปากเบี้ยว (WRY MOUTH)
ที่จะถูกตัดสิทธ ิ์ในการประกวด จมูกสีชมพูหรือสีน้ำตาล (DUDLEY NOSE) น้ำหนักเกินกว่า 14 ปอนด์



ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ จาก..

http://women.sanook.com/pets/breed/dogs_44559.php
http://learners.in.th/blog/sontayatan/43115

เชา เชา (Chow Chow)



เชา เชาเป็นพันธุ์สุนัขที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น มีประวัติศาสตร์สายพันธุ์มายาวนาน กว่า 2000 ปี สุนัขเชา เชา เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสุนัขพันธุ์มาสตีฟแห่งธิเบตและพันธุ์ชามอยจากตอนเหนือของไซบีเรีย แต่มีข้อโต้แย้งว่า เชา เชา อาจเป็นสุนัขพันธุ์แท้ดั้งเดิม เพราะเป็นเพียงสุนัขพันธุ์เดียวในโลกที่มีลิ้นสีดำปนน้ำเงิน

เชา เชาเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในประเทศอังกฤษในปี 1880 โดยพระนางเจ้าวิคตอเรียทรงให้ความสนพระทัย สมาคมสุนัขพันธุ์ เชา เชา ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษในปี 1895 สุนัขพันธุ์ เชา เชา มีความสามารถในการดมกลิ่นเป็นเลิศ มีความเฉลียวฉลาดในกลวิธีการล่าสัตว์



ปัจจุบันสุนัขพันธุ์ เชา เชา ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ในบ้านเราจัดได้ว่าได้รับความนิยมอยู่ในเกณฑ์สูงและจัดได้ว่าเป็นสุนัขที่ค่อนข้างมีระดับ เหตุเพราะว่าเป็นสุนัขที่มีราคาค่อนข้างสูง จากการที่เชา เชามีขนหนาแน่นปกคลุมอยู่ทั่วตัว ทำให้ร่างกายอุ้มความร้อน ดั้งนั้น เชา เชา จึงชอบอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ในสภาพอากาศที่ร้อนอย่างบ้านเรา มักจะทำให้เหนื่อยง่ายและเฉื่อยชา แต่อย่างไรก็ตามการที่ เชา เชา มีการขยายพันธุ์ในหลายๆ รุ่น ทำให้สามารถปรับสภาพกับอากาศในเมืองไทยได้พอสมควร

มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : เชา เชาเป็นสุนัขที่เต็มไปด้วยพละกำลัง ลำตัวสั้นกระทัดรัด มีความแคล่วคล่องว่องไวและตื่นตัวอยู่เสมอ มีมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและมีโครงสร้างที่สมดุลมาก ลำตัวเป็นสี่เหลี่ยม ศีรษะกว้างและแบน สันจมูกกว้างและสั้น มีขนขึ้นหนาแน่นโดยเฉพาะที่รอบคอ ขาใหญ่ตั้งตรงและแข็งแรง ขนมีความมันเป็นประกาย ลักษณะเด่นของเชา เชาคือ มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความสง่างามและมีความเป็นธรรมชาติ เปรียบเสมือนกับเป็นราชสีห์ หน้าตาดุดันแข็งขัน สงบและว่างท่าอย่างสุขุมเป็นผู้ดี มีความเป็นอิสระและมีการตัดสินใจที่ดี
ศีรษะ : มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดรูปร่าง มีกะโหลกศีรษะแบนกว้าง มีสต๊อปชัดเจน ลักษณะหน้าตาฉายแววของความทรนงองอาจ สันจมูกสั้นและกว้างเมื่อเทียบกับความยาวของกะโหลกจากตาจนถึงปลายจมูก ริมฝีปากเต็มและยื่น
ฟัน : ฟันขาว แข็งแรง สบกันพอดี
จมูก : จมูกใหญ่ กว้างและมีสีดำ ถ้าจมูกมีลายจุดหรือมีสีอื่นที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากสีดำถือว่าขาดคุณสมบัติ ยกเว้นเชา เชาที่มีดำ, น้ำเงิน จมูกอาจมีสีน้ำเงินได้ ลิ้นมีสีดำออกน้ำเงิน เนื้อเยื่อในปากออกสีดำ ถ้าลิ้นมีสีชมพูแดงหรือมีจุดสีแดงจนเห็นได้ชัดเจนถือว่าขาดคุณสมบัติ



ตา : มีสีดำขนาดปานกลาง รูปร่างเรียวคล้ายผลอัลมอนด์ ขอบตาสีดำ
หู : ใบหูเล็ก ตรงปลายหูมีความโค้งมนเล็กน้อย หูแข็งตั้งขึ้น เอียงออกด้านข้างและด้านหน้าเล็กน้อย ถ้าหูตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างถือว่าขาดคุณสมบัติ
ลำตัว : สั้นกระทัดรัด มีซี่โครงผายออก ความสูงของลำตัวมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของลำตัว เส้นหลังตรงขนานกับพื้น
คอ : ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ คอกลม มีความยาวพอเหมาะ แข็งแรง ทำให้ดูสง่างาม
อก : กว้างและลึกเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ลึกจรดข้อศอก ถ้าอกแฟบถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง
ขาหน้า : ขาหน้าตั้งตรง กระดูกมีขนาดใหญ่ มีมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ข้อเท้าขาหน้าตั้งตรงตั้งฉากกับพื้น เท้าชี้ตรงไปข้างหน้าไม่บิดซ้าย - ขวา เท้ามีลักษณะหนากลม เท้าชิด เล็บตัดสั้น
ขาหลัง : มีกระดูกใหญ่ ขาหลังท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มองจากด้านหลังขาหลังตรง และขนานห่างกันพอเหมาะ ข้อเท้าหลังตรงตั้งฉากกับพื้น มองจากด้านข้าง สะโพก หัวเข่าและข้อเท้าจะเป็นเส้นตรงเดียวกัน เท้าหลังมีลักษณะคล้ายเท้าหน้า
เอว : มีขนาดสั้นและลึก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ
ขน-สี : มี 2 ชนิด คือ ชนิดขนสั้นและชนิดขนยาว มีขนที่ดกหนา เส้นขนเหยียดตรง ขนชั้นนอกค่อนข้างหยาบ ขนชั้นในนุ่ม มีสีสดใสและเป็นสีเดียวกันตลอด อาจมีเฉดสีแตกต่างออกไปเล็กน้อยตรงแผงคอ ที่หางและที่ก้น เชา เชามีสีดำ, สีเทา, สีแดง, สีครีม ที่สำคัญคือ เชา เชาต้องมีสีเดียวตลอดทั้งตัว
หาง : โคนหางอยู่ในระดับสูง หางพาดแนบหลัง
ส่วนสูงและน้ำหนัก : สูงประมาณ 17 - 20 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 24 - 27 กิโลกรัม
การเคลื่อนไหว : มีความมั่นคง สง่างาม ขณะวิ่งขาตึง ยกเท้าไม่สูง คอเชิด



ขอขอบคูณข้อมูลจาก...
http://women.sanook.com/pets/breed/dogs_44601.php